PP IGC x Huawei
ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า สู่โอกาสทางธุรกิจ
การทำธุรกิจสมัยนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของการตลาดด้วยวิธี Collaboration หรือที่เราเห็น แบรนด์เอ x แบรนด์บี พัฒนาธุรกิจ สินค้าและบริการใหม่ๆ ร่วมกันกำลังเป็นนิยมอย่างมาก ซึ่งการ Collab ของแบรนด์ต่าง ๆ นำมาสู่การเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ ยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจ ขยายกลุ่มลูกค้า ต่อยอดพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ๆ
การผสานความรู้นั้นเป็นหนึ่งในคุณค่าหลัก ที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ใช้ดำเนินธุรกิจตลอดมา คุณสมชาย โรจน์อัศวเสถียร กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) นำทีมบริหารธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยการชูเรื่องการผสานความรู้สร้างความร่วมมือกับคู่ค้า ที่ไม่ได้หวังเพียงแค่ผลลัพธ์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมุ่งขยายผลลัพธ์ไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งการพัฒนาสังคม การใส่ใจชุมชนรอบข้างอีกด้วย
โครงสร้างของหน่วยงานพลังงานสะอาดแยกออกเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ บริษัท อินฟินิทกรีน จำกัด (IGC) พัฒนาโซลาร์ฟาร์ม ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ บมจ.พรีเมียร์โพรดักส์ (PP) ดำเนินการพัฒนาโครงการ โซลาร์รูฟท็อปและพลังงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโซลาร์รูฟท็อป ดูแลให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ โครงสร้าง การประเมินความคุ้มค่า การขอและต่อใบอนุญาตในการติดตั้ง การก่อสร้าง ตลอดจนการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ทั้งระบบให้กับลูกค้า ภายหลังการขาย
ทำงานร่วมกับห่วงโซ่ที่มีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน
สู่การยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
คุณสมชายบอกว่า ตลอดการทำงานยึดเรื่องคุณค่าหลักของกลุ่มพรีเมียร์เสมอ ตลอดมาและไม่ลืมที่จะคอยย้ำเรื่องนี้ให้กับทีม โดยเฉพาะเรื่องการผสานความร่วมมือ เพราะทั้ง IGC และ PP ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน แต่เป็นกลุ่มที่ต่างกันออกไป อย่างคนในห่วงโซ่ของ IGC จะเป็นหน่วยงานราชการตั้งแต่ อบต. กระทรวงพลังงาน, ลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ผู้รับเหมาบำรุงรักษา (Preventive Maintenance) รวมไปถึงการดูแลคนในชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ในส่วนของ PP ที่ลักษณะธุรกิจเป็นรูปแบบการค้าและบริการอย่างครบวงจร ห่วงโซ่ก็จะกว้างและหลากหลายมากกว่า ทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโซลาร์รูฟท็อปของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก อาทิ หัวเหว่ย หรือคู่ค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม , คู่ค้ารูปแบบสัญญาการลงทุน สัญญาการดูแลรักษาระบบและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า PRIVATE PPA (PRIVATE POWER PURCHASE AGREEMENT และ SERVICE CONTRACT) ไปจนถึงลูกค้ารายย่อยบ้านอยู่อาศัยทั่วไป
“จริง ๆ การเลือกทำธุรกิจกับคู่ค้า ก็เหมือนการเลือกคนแต่งงานกับเรานะ เหตุผลที่เราเลือกคนนี้เพราะเราอยากอยู่กับเขานาน ๆ เป็นคนที่มีความคิดใกล้เคียงกับเรา มีความเกื้อหนุนกัน สุดท้ายแล้วก็เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันที่ยั่งยืน”
เพราะฉะนั้นในระหว่างทางของการทำงานร่วมกับคู่ค้า เราต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการให้ความรู้ การจัดแคมเปญ สร้างกิจกรรมทางการตลาดที่จะทำให้เราและเขามีรายได้ และเพิ่มประโยชน์เกื้อหนุนร่วมกันเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการทำกิจกรรมที่ไปพัฒนาด้านสังคม ทั้งสังคมที่อยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าของเรา รวมถึงสังคมโดยรวมที่ยังมีความต้องการอยู่ พร้อมขยายการมีส่วนร่วมไปสู่คู่ค้าของเราด้วยเพราะนอกจากการได้ดูแลและพัฒนาสังคมที่เป็นห่วงโซ่สำคัญของเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นแล้วยังถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นโอกาสต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจใหม่ๆจนถึงการร่วมพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมที่เราทำนี้ให้เติบโตไปข้างหน้าพร้อมๆกันในแบบที่ยั่งยืนต่อไปได้
โครงการ Repowering ผสานความรู้กับหัวเหว่ย
เพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางธุรกิจ
โครงการ Repowering เป็นตัวอย่างของการทำงานแบบยกระดับห่วงโซ่คุณค่าอย่างชัดเจน เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ก่อเกิดประโยชน์ร่วมกันในทุกฝ่าย คุณสมชายเล่าว่า “โครงการ Repowering เป็นการทำงานร่วมกัน 3 บริษัท ระหว่าง IGC, PP และ บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด สำหรับหัวเหว่ยเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันมาก่อนหน้านี้ และยังมีแนวคิดการทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตรงกันกับเรา จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่จะร่วมพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ด้วยกัน
โครงการนี้เกิดจากความต้องการพัฒนาอุปกรณ์และระบบผลิตไฟฟ้าเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า IGC ที่ผลิตไฟฟ้ามาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มเสื่อมลงตามสภาพการใช้งานและตามกาลเวลา เราทำงานกันอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ศึกษาโครงสร้าง (Layout) ของโรงไฟฟ้า ไปจนถึงประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนร่วมกัน ทดลองเปลี่ยนระบบต่างๆ ให้ทันสมัยและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ยกตัวอย่างตัวแปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ หรือ Inverter ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้เป็น Single phase 4 KW ประสิทธิภาพการแปลงไฟฟ้า ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็มีอัตราประสิทธิภาพลดลงตามระยะเวลาการใช้งาน แต่ในปัจจุบัน Inverter สามารถมีประสิทธิภาพแปลงไฟฟ้าได้มากกว่า และราคาถูกลงเราจึงทดลองเปลี่ยนมาใช้ Inverter รุ่นใหม่ของหัวเหว่ย ที่สามารถแปลงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีระบบ ITในการดูแลรักษาอุปกรณ์ และประสิทธิภาพให้สูงขึ้นซึ่งเมื่อทดลองพัฒนาอุปกรณ์และระบบต่างๆ ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ความคุ้มค่าก็เป็นไปตามที่เราประเมินไว้และเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของ IGC ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ยมากกว่า 5 % สามารถเพิ่มรายได้ให้กับโรงไฟฟ้า เกิดความคุ้มค่าการลงทุน และลดความเสื่องปัญหาจากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เป็นโอกาสต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต
โครงการนี้ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย โดย IGC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ส่วน PP ก็ได้เปิดตลาดใหม่ ได้เรียนรู้เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับคู่ค้า ลูกค้า โดยที่เราสามารถนำเสนอจากประสบการณ์ใช้งานจริง มีโรงไฟฟ้าตัวอย่างให้มาศึกษา รวมถึงการทำงานร่วมกับหัวเหว่ยที่เป็นบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ช่วยยกระดับธุรกิจของเราสู่ตลาดสากล ในขณะเดียวกันหัวเหว่ยที่ไม่เคยทำโครงการเกี่ยวกับโรงงานผลิตไฟฟ้าก็ได้ยกระดับธุรกิจของตัวเองสู่การเปิดตลาดในธุรกิจนี้จากการศึกษาและทำโครงการร่วมกับ IGC จนสำเร็จเป็นโครงการต้นแบบของหัวเหว่ย
และหากถามว่าโครงการ Repowering ที่เกิดประโยชน์กับคนในห่วงโซ่แล้ว สามารถต่อยอดธุรกิจในรูปแบบพาณิชย์ได้ไหม ตอบว่าได้แน่นอน และเราตั้งใจใช้โมเดลธุรกิจนี้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายสู่ธุรกิจพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ให้กับโรงผลิตไฟฟ้าที่อื่นๆในอนาคต เพราะโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในตลาดส่วนใหญ่ตอนนี้ก็จะมีอายุประมาณ 8 -10 ปี อุปกรณ์บางอย่างเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลงไปเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ IGC โครงการ Repowering ชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เราจึงมีแผนพัฒนาธุรกิจร่วมกันเพื่อเปิดตลาดนี้ต่อไปในอนาคตแน่นอน และเรามองเห็นแล้วว่าการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือนั้นเกิดผลลัพธ์ที่ดีและสามารถเกิดโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้อีกไกล เราก็ตั้งใจใช้ Business Model นี้เป็นต้นแบบในการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ของสายธุรกิจของเราต่อไปอีกด้วย